วิธีเขียน resume
1. บริหารพื้นที่เรซูเม่ให้ดี
เรซูเม่ที่ดีจะต้องเขียนให้จบได้ภายใน1หน้ากระดาษเท่านั้น หรือถ้ามากกว่านั้นก็อาจจะเป็นไปได้ ถ้าผลงานหรือสิ่งที่คุณเล่านั้นดึงดูดใจคนอ่านมากพอที่จะอ่านอะไรยาว ๆ ขนาดนั้น เพราะการเขียน resume ให้ดีจึงเป็นการแสดงความสามารถในการสรุปใจความของเรา ให้ HR ได้เห็น ถ้าใครยังมองไม่เห็นภาพรวมนัก ก็ลองใช้อัตราส่วนตามนี้ดูสิครับ
สำหรับเด็กจบใหม่
- ข้อมูลส่วนตัว 10% (ชื่อ นามสกุล หมายเลขโทรศัพท์ อีเมล์ รูปถ่าย)
- ประสบการณ์ฝึกงาน 30%
- การศึกษา 30%
- สกิลต่าง ๆ 10% (ความสามารถด้านภาษา คอมพิวเตอร์ ซอฟท์สกิล ฯลฯ)
- กิจกรรมตอนเรียน 20%
ผู้สมัครงานมีประสบการณ์ทำงานแล้ว
- ข้อมูลส่วนตัว 10% (ชื่อ นามสกุล หมายเลขโทรศัพท์ อีเมล์ รูปถ่าย)
- ประสบการณ์ทำงาน 60%
- การศึกษา 10%
- สกิลต่าง ๆ 20% (ความสามารถด้านภาษา คอมพิวเตอร์ ซอฟท์สกิล ฯลฯ)
2. ห้ามเว้นพื้นที่ว่างเอาไว้โดยเด็ดขาด
การกรอกข้อมูลให้ครบถือเป็นกฎเหล็กของการสมัครทุกอย่างในโลกนี้ ถ้าคุณปล่อยทิ้งว่างๆเอาไว้เยอะๆก็แสดงว่าคุณไม่รู้จักตัวเองดีพอ และคนที่ไม่รู้จักตัวเองดีพอ ก็จะยังไม่พร้อมในการสมัครงานอย่างแน่นอน
3. ใส่รูปอย่างเป็นทางการเท่านั้น
การสมัครงานถือว่าเป็นขั้นตอนในระดับมืออาชีพ ซึ่งผู้สมัครงานเองก็จะต้องแสดงความเป็นมืออาชีพด้วย รูปสมัครงาน ถือเป็นสิ่งหนึ่งที่สำคัญมากในระดับต้นๆเลยก็ว่าได้ รูปที่ดีที่สุดที่คุณควรจะใส่ในเรซูเม่จึงเป็นรูปติดบัตร ที่จะทำให้เรซูเม่ของคุณเป็นทางการมากพอ
4. เขียนรายละเอียดส่วนตัวของตัวเอง และการติดต่อให้ชัดเจน
จินตนาการว่าคุณเขียนเรซูเม่มาอย่างดี แต่ดันใส่เบอร์โทรศัพท์หรืออีเมลล์ตัวเองผิดหรือลืมใส่ HR ก็ติดต่อนัดคุณไปสัมภาษณ์งานไม่ได้ ดังนั้นเรื่องสำคัญแบบนี้ไม่ควรมองข้าม ควรเขียนให้ถูก อ่าน ตรวจทาน หลายๆรอบเพื่อไม่ให้เกิดข้อผิดพลาดที่จะนำมาซึ่งการพลาดโอกาสในการเข้าทำงาน
5. ใส่รายละเอียดของงานที่เคยทำให้ชัดเจน และยาวมากพอ
ส่วนนี้คือส่วนสำคัญที่สุดของเรซูเม่สมัครงาน เพราะข้อมูลส่วนนี้จะมีน้ำหนักในการพิจารณาคุณสมบัติในการเข้ารทำงานมากที่สุด ดังนั้นคุณควรใส่ข้อมูลรายละเอียดให้ครบ เช่น เคยทำงานตำแหน่งอะไร ทำที่ไหน เมื่อไหร่และคุณได้ทำอะไรบ้างในตำแหน่งนั้น
ถ้าหากว่าคุณเป็นเด็กจบใหม่ยังไม่มีประสบการณ์ล่ะก็ ให้ใส่รายละเอียดของประสบการณ์ฝึกงานลงไปในส่วนนี้แทน
6. ใส่รายละเอียดการศึกษาของตัวเอง
รายละเอียดการศึกษาก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ไม่ควรมองข้าม โดยให้ใส่ตั้งแต่การศึกษาสูงสุดของคุณ ลงมาถึงการศึกษาต่ำสุด ใส่ชื่อสถานศึกษา คณะ เอกให้ละเอียด เพราะข้อมูลส่วนนี้ในบางทีอาจเป็นประโยชน์มากสำหรับการสมัครงาน และขอแนะนำอีก 1 อย่าง หากคุณจบการศึกษาด้วยเกรดเฉลี่ย (GPA) มากกว่า 3.00 คุณควรใส่ลงไปใน resume ด้วย เพราะนั้นสามารถเพิ่มโอกาสได้งานของคุณได้ แต่หากต่ำกว่านั้น เราไม่แนะนำเท่าไหร่นัก
7. สกิลทางด้านภาษาต่าง ๆ
ความสามารถทางด้านภาษาสามารถเพิ่มความน่าเชื่อถือให้กับเรซูเม่ของคุณ โดยภาษาที่ 2 ที่คุณควรได้นอกจากภาษาไทยคือภาษาอังกฤษ โดยถึงแม้ว่าคุณจะเก่งหรือไม่เก่งก็ตาม ก็ควรจะใส่สกิลภาษาไปด้วย ซึ่งถ้าหากคุณไม่เก่งจริงๆ ก็ให้ใส่ว่า ‘Average’ ก็พอ แต่อย่าเผลอไปใส่ว่าตัวเองเก่งระดับเจ้าของภาษานะครับ เพระตอนสัมภาษณ์อาจมีการวัดภูมิได้ ถึงตอนนั้นเราอาจตกที่นั่งลำบากเลยล่ะ
8. สกิลเฉพาะทางต่าง ๆ
สำหรับสกิลเฉพาะเราแนะนำให้คุณใส่เฉพาะที่เกี่ยวข้องกับงานที่คุณกำลังสมัคร เช่น หากคุณสมัครงานโปรแกรมเมอร์ก็ควรใส่ว่าคุณสามารถเขียนภาษาอะไรได้บ้าง อาทิ
Java, Php, หรือ .Net เป็นต้น หรือใช้เฟรมเวิร์คอะไรเป็น เคยผ่านเครื่องมืออะไรมาบ้างแต่สิ่งที่ควรหลีกเลี่ยงคือกราฟแสดงค่าพลังว่าคุณเก่งขนาดไหน เพราะการใช้หลอดพลังบอกระดับความสามารถนั้น เป็นสิ่งที่คาดเดาได้ยากมากที่เดียวว่าความถนัดของคุณจริงๆ แล้วอยู่ที่ระดับไหน
9. งานอดิเรก ไม่ต้องใส่ลงไป
งานอดิเรกของคุณ ไม่ว่าจะเป็นดูหนังฟังเพลงต่าง ๆ ถือเป็นข้อมูลที่รู้ก็ได้ ไม่รู้ก็ดี แต่ถ้าจะให้ดีก็ไม่ต้องใส่ดีกว่า จะได้ไม่ต้องเสียเวลาอ่าน
10. ธีมเรียบ ๆ คือผู้ชนะ อย่าใช้ธีมเรซูเม่ฉูดฉาด
รู้หรือไม่ว่า 99% ของเรซูเม่ที่ได้งาน คือเรซูเม่ที่ใช้ธีมเรียบ ๆ กันทั้งนั้น เพราะว่า HR จะให้ความสำคัญกับข้อมูล การสรุปข้อมูล การจัดเรียงข้อมูลมากว่า
แต่ก็มีข้อยกเว้นเช่นกัน 1% ของเรซูเม่สีสันฉูดฉาดที่ได้งานนั้น จะเป็นกลุ่มผู้สมัครงานด้านครีเอทีฟ งานด้านกราฟฟิกดีไนเนอร์ เท่านั้น ที่จะต้องเน้นแสดงฝีมือของตัวเองลงในเรซูเม่นั่นเอง แต่ถ้าคุณไม่ได้สมัครงานในกลุ่มนี้แล้วล่ะก็ อย่าใช้ธีมเรซูเม่สีสันฉูดฉาดเด็ดขาด
11. ส่งเป็นไฟล์ PDF เท่านั้น
เมื่อคุณเขียนเรซูเม่ของตัวเองเสร็จแล้ว อย่าส่งไฟล์ .doc หรือ .docx ให้ HR โดยเด็ดขาด ให้แปลงไฟล์เป็น PDF ก่อนแล้วจึงส่งสมัครงาน เพราะเมื่อนำไปเปิดที่เครื่องไหน ก็จะได้หน้าตาเหมือนกันทั้งนั้น ไม่พัง และไม่สามารถแก้ไขอะไรได้
ขอขอบคุณข้อมูลจาก: Resume.in.th